วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้นำไต้หวันยินดีต้อนรับนักธุรกิจไต้หวันกลับมาลงทุนในมาตุภูมิ แต่ไม่อาจแยกแรงงานต่างชาติออกจากค่าจ้างขั้นต่ำตามที่เสนอ

จากการที่รัฐบาลไต้หวันผลักดันแผนการดึงดูดนักธุรกิจไต้หวัน ให้กลับมาลงทุนในมาตุภูมิ ประกอบกับเกิดเหตุกระโดดถึงฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องถึง 13 คนของพนักงานบริษัทฟอกซ์คอนในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหงไห่ปรีซิชั่น บริษัทรับจ้างผลิตคอมพิวเตอร์และสินค้าไอทีที่ใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติไต้หวัน โดยวิธีแก้ปัญหาของบริษัทหงไห่ ซึ่งทำให้ทั่วโลกตะลึงก็คือ ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานทั้งหมด 800,000 คน ร้อยละ 122 ส่งผลให้มีเสียงเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างดังกระหึ่มไปทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า จีนแผ่นดินใหญ่ที่เคยได้เปรียบด้าน

ต้นทุนแรงงานต่ำ ไม่ได้เป็นสวรรค์ของผู้ประกอบการอีกต่อไป ต่างเตรียมถอนหรือย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการไต้หวัน นอกจากสนใจไปลงทุนเวียดนาม อินโดนีเซียและอินเดียแล้ว ยังประสงค์จะกลับมาลงทุนที่บ้านเกิดตามคำชักชวนของรัฐบาล ซึ่งอุปสรรคหรือปัญหาของการกลับมาลงทุนที่ไต้หวัน เช่นภาษี สถานที่ตั้งโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกจากรัฐบาล ก็ได้รับการแก้ไขไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงสัดส่วนหรือโควตาและค่าจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลแยกแรงงานต่างชาติออกจากค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้เป็นไปตามราคาตลาดและความตกลงของนายจ้างและลูกจ้าง และต้องการให้ว่าจ้างแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่มากขึ้น ประเด็นหลังทางรัฐบาลก็ได้เตรียมมาตรการรองรับเอาไว้แล้ว กล่าวคือจะมีปรับสัดส่วนการจัดสรรโควตาแรงงานต่างชาติให้กับผู้ประกอบการใหม่ในเดือนสิงหาคมปีนี้ จากปัจจุบัน 3 ระดับได้แก่ร้อยละ 15 18 และ 20 เปลี่ยนเป็น 5 ระดับ ได้แก่ร้อยละ 10, 15, 20, 25 และ 35 โดยกิจการที่เป็นงานหนัก งานเสี่ยง และงานสกปรก หรือที่เรียกกันว่า กิจการจำพวก 3 เค เช่นโรงงานทอผ้า ฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ โรงงานถลุงหรือหล่อโลหะเป็นต้น ซึ่งหาคนงานท้องถิ่นเข้าทำงานได้ยาก ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานมากที่สุด จะอนุมัติให้สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้ในอัตราส่วนสูงสุดคือร้อยละ 35 ขณะที่อุตสาหกรรมไฮเทค เช่นอิเลคทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์เป็นต้น จะจำกัดการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ จากปัจจุบันที่นำเข้าได้ในสัดส่วนร้อยละ 15 จะลดลงเป็นร้อยละ 10 ของแรงงานท้องถิ่น

เหลือเพียงปัญหาต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลแยกแรงงานต่างชาติออกจากระบบค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเอง อย่างไรก็ตาม นางหวาง หรูเสวียน ประธานคณะกรรมการการแรงงานหรือ CLA และนายหวู ตุนยี่ นายกรัฐมนตรี เคยแถลงจุดยืนอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่สามารถที่จะยกเลิกการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำในแรงงานต่างชาติได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วกล่าวย้ำ ขณะให้การต้อนรับการเข้าพบของตัวแทนผู้ประกอบการว่า ปัจจุบัน ค่าจ้างแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อกำไรการส่งออก รัฐบาลจึงหวังดึงดูดผู้ประกอบการกลับมาลงทุนที่มาตุภูมิ โดยจะอำนวยความสะดวกในทุกเรื่อง และส่วนใหญ่ก็ดำเนินการไปแล้ว แต่สำหรับค่าจ้างแรงงานต่างชาติที่ผู้ประกอบการต้องการให้ยกเลิกการคุ้มครองจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะหาทางลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานของผู้ประกอบการลง ส่วนจะปรับส่วนไหน อย่างไร จะให้คณะกรรมการการแรงงานนำไปศึกษาและดำเนินการต่อไป

ด้าน CLA กล่าวว่า ภายใต้หลักการที่ไม่แยกแรงงานต่างชาติและค่าจ้างขั้นต่ำออกจากกัน นายจ้างสามารถลดต้นทุนด้านอาหารและที่พัก เนื่องจากปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างหักค่าอาหารที่พักแรงงานต่างชาติได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน แต่สำนักงานแรงงานของประเทศต่างๆ ยืนหยัดให้นายจ้างหักได้ไม่เกิน 2,500 เหรียญ ดังนั้นทาง CLA จะหารือกับสำนักงานแรงงานของประเทศผู้ส่งออกถึงความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้นายจ้างหักค่าอาหารและที่พักได้มากขึ้น ซึ่ง CLA เห็นว่า หนทางที่จะให้สำนักงานแรงงานของประเทศต่างๆ ยินยอมให้ความร่วมมือ มี 2 ประการ หนึ่ง คือยกระดับคุณภาพอาหารและที่พักให้คุ้มค่ากับค่าอาหารที่จะปรับสูงขึ้น ประการที่สอง คือช่วยเหลือนายจ้างนำเข้าแรงงานต่างชาติ ด้วยระบบจ้างตรง โดยไม่ผ่านการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน เมื่อแรงงานต่างชาติไม่ต้องเสียค่าหัวคิว โอกาสที่จะปรับขึ้นค่าอาหารก็มีความเป็นไปได้สูง

เดิม CLA ประกาศให้นายจ้างหักค่าอาหารที่พักได้ไม่เกินเดือนละ 4,000 เหรียญไต้หวัน ต่อมาเมื่อปี 2550 เพื่อลดภาระด้านต้นทุนของนายจ้าง ได้ประกาศปรับขึ้นเป็นไม่เกิน 5,000 เหรียญ อย่างไรก็ตาม สำนักงานแรงงานไทย ยืนหยัดอนุญาตให้นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานไทยหักค่าอาหารและที่พักได้ ไม่เกิน 2,500 เหรียญไต้หวันมาตั้งแต่ต้น แม้ระยะหลัง จะยืดหยุ่นให้ปรับขึ้นได้บ้าง สำหรับนายจ้างที่ดูแลแรงงานไทยดี และรายได้ของแรงงานไทยก็อยู่ในระดับสูง แต่โดยหลักการแล้วก็ยังยืนหยัดให้หักได้ไม่เกิน 2,500 เหรียญ จนสำนักงานแรงงานของประเทศอื่นเอาอย่าง กลายเป็นมาตรฐานการจัดเก็บค่าอาหารที่พักที่รัฐบาลอนุญาตให้หักได้ ไม่เกิน 5,000 เหรียญ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว นายจ้างส่วนใหญ่หักค่าอาหารในอัตรา 2,500 เหรียญไต้หวันต่อเดือน จะมีอยู่บ้างที่หัก 3,000 หรือ 3,500 เหรียญ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น