วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เตือนแรงงานไทยเปลี่ยนชื่อหวังทำงานเกิน 9 ปี อาจถูกดำเนินคดีข้อหาแปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อมูลเท็จ

ปัจจุบันกฎหมายการจ้างงานไต้หวันอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานได้ไม่เกิน 9 ปี แต่มีคนงานไทยที่ทำงานใกล้จะครบหรือครบ 9 ปีแล้ว และประสงค์จะกลับมาทำงานในไต้หวันอีก หากใช้วิธีเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล หรือกระทั่งสวมบัตรประชาชนคนอื่นกลับเข้ามา ระวังจะถูกดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยช่วงไม่กี่เดือนมานี้ พบว่ามีแรงงานไทยถูกส่งกลับหรือกระทั่งถูกดำเนินคดีแล้วหลายราย

ล่าสุดเกิดขึ้นที่เมืองไทจุง นายอมฤต สุรภีร์ อายุ 33 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเคยเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาทำงาน 8 ปี 9 เดือนเศษ ได้เปลี่ยนชื่อทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ แล้วเดินเรื่องกลับมาทำงานกับนายจ้างรายเดิมเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา วันรุ่งขึ้นบริษัทจัดหางานพาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ และยื่นขอใบถิ่นที่อยู่ที่สำนัก
งานตรวจคนเข้าเมืองและกิจการแรงงานต่างชาติ สาขานครไทจุงตามระเบียบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวใส่กุญแจมือ ส่งให้อัยการดำเนินคดี ข้อหาปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกิจการชาวต่างชาติสาขานครไทจุงแถลงว่า นายอมฤตเปลี่ยนชื่อก่อนเดินทางมาทำงาน ทั้งๆ ที่เหลือเวลาทำงานไม่ถึง 3 เดือน แสดงถึงเจตนาที่จะทำผิดกฎหมาย

สำนักงานแรงงานไทยในกรุงไทเป หลังได้รับแจ้งจากนายจ้างและบริษัทจัดหางานแล้ว ได้โทรศัพท์ทักท้วงพร้อมชี้แจงต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฯ ว่า ตามกฎหมายไต้หวันอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานได้ไม่เกิน 9 ปี แต่นายอมฤตยังไม่ถึงกำหนด ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองควรออกใบถิ่นที่อยู่ให้เฉพาะช่วงเวลาที่เหลือหรือแจ้งไปยังคณะกรรมการการแรงงานหรือ CLA ซึ่งจะออกใบอนุญาตทำงาน หลังจากที่แรงงานต่างชาติพิมพ์ลายนิ้วมือเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ CLA จะตรวจสอบจากฐานข้อมูลและออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาที่เหลือ ส่วนการเปลี่ยนชื่อ นามสกุลนอกจากเป็นสิทธิของประชาชนไทยที่กฎหมายอนุญาตให้กระทำได้แล้ว ยังเป็นกระแสนิยมของคนไทยด้วย อีกทั้งนายอมฤต มีหลักฐานแสดงการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการจับกุมแรงงานไทย โดยตั้งข้อหาว่าปลอมแปลงเอกสาร จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีนี้ ได้เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ทางสำนักงานแรงงานไทย นอกจากรายงานต่อผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย และกระทรวงแรงงานเพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่คนหางานระมัดระวังแล้ว สำนักงานแรงงานไทยยังได้ว่าจ้างทนายความ ทำหน้าที่แก้ต่างและคืนความเป็นธรรมให้แก่แรงงานไทยรายนี้ต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานแรงงานได้เตือนแรงงานไทย โดยเฉพาะท่านที่ใกล้ครบหรือครบกำหนด 9 ปีแล้ว กลับบ้านไปเปลี่ยนชื่อหรือสวมชื่อคนอื่นกลับเข้ามาทำงานอีกว่า แม้นายจ้างบางรายบอกว่าไม่เป็นไร หรือถึงขั้นออกค่าใช้จ่ายในการไปเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ก็ไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากท่านอาจถูกตรวจพบ ถูกส่งกลับหรือถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับแรงงานไทยที่กล่าวมาก็ได้ ควรจะรอให้ร่างกฎหมายการจ้างงานฉบับแก้ไขผ่านสภา อนุญาตให้ขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติออกไปเป็น 12 ปีแล้ว จึงจะกลับเข้ามาใหม่ เพื่อความสบายใจและไม่ต้องผวาว่าจะถูกตรวจพบ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการแรงงานหรือ CLA เคยประกาศเตือนว่า ปัจจุบันมีการตรวจเข้มคนงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวันครบกำหนด 9ปี แล้วกลับมาทำงานอีก นอกจากใช้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบฐานข้อมูลแล้ว ยังตรวจลายพิมพ์นิ้วมือด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และที่มักจะได้รับแจ้งบ่อยๆ ก็คือ คนงานต่างชาติที่กลับมาทำงานกับนายจ้างรายเดิม หรือบริษัทจัดหางานรายเดียวกันเกิน 9 ปี แล้วถูกเพื่อนร่วมงาน หรือญาติมิตรโทรศัพท์แจ้งความต่อทางการ CLA ว่า คนงานต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายจะถูกส่งกลับประเทศ แต่หากสวมบัตรประชนคนอื่น ซึ่งเข้าข่ายปลอมแปลงเอกสารก็จะถูกส่งดำเนินคดี กรณีของนายจ้างสมรู้ร่วมคิดด้วย จะถูกลงโทษปรับเงิน 150,000 เหรียญขึ้นไป ไม่เกิน 750,000 เหรียญ และหากบริษัทจัดหางานทราบเรื่องแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการกระทำผิด จะถูกลงโทษปรับเงิน 60,000 เหรียญขึ้นไป ไม่เกิน 300,000 เหรียญไต้หวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น