ระยะเวลาทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติที่หลายฝ่ายคาดหวังว่า จะได้รับการขยายจาก 9 ปี ในปัจจุบันออกไปเป็น 12 นั้น ส.ส. หลายคนยังกังขาว่า จะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานท้องถิ่น ขณะเดียวกันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุระยะยาวของรัฐบาล ทำให้การหารือแก้ไขกฎหมายขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติไม่สามารถตกลงกันได้ จำเป็นต้องไปหารือกันต่อในที่ประชุมสมัยหน้า ซึ่งจะเปิดการประชุมหลังเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
ก่อนหน้านี้ นายเฉินฉางเหวิน ทนายความชื่อดัง ขณะเดียวกันเป็นประธานสภากาชาดไต้หวัน ซึ่งมีลูกชายที่ต้องพึ่งพาผู้อนุบาลฟิลิปินส์ที่กำลังจะทำงานครบ 9 ปี ได้ออกมาเรียกร้องขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติ เห็นใจครอบครัวที่มีผู้ป่วยและคนชรา ผ่านกฎหมายขยายเวลาทำงานของผู้อนุบาลให้เป็น 12 ปี เขากล่าวว่า ลูกชายซึ่งพิการทางสมอง ไม่อาจขาดผู้อนุบาลที่ดูแลเขาได้แม้แต่วันเดียว และผู้อนุบาลฟิลิปปินส์ที่ดูแลบุตรชายตลอด 24 ชั่วโมงมาเป็นเวลา 9 ปี มีความสำคัญต่อบุตรมากกว่าผู้เป็นพ่อเสียอีก คำเรียกร้องของประธานสภากาชาดไต้หวันดังกล่าว กลายเป็นข่าวดังและเป็นประเด็นที่สังคมไต้หวันนำมาพูดถึงอย่างมาก บรรดานาย
จ้างที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับนายเฉินฉางเหวิน ต่างออกมาขานรับ และเรียกร้องให้ ส.ส. เห็นใจ ซึ่งมี ส.ส.จำนวนมากที่เห็นด้วยว่า ควรจะขยายเวลาการทำงานของผู้อนุบาลต่างชาติให้เป็น 12 ปี เพราะการเปลี่ยนผู้ดูแลคนใหม่ ทำให้เกิดปัญหาทั้งต่อคนป่วยและครอบครัวผู้ป่วยอย่างมาก บ้างก็ว่า ควรขยายเฉพาะผู้อนุบาล ส่วนแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตไม่ควรขยายตามไปด้วย เพราะจะทำให้แรงงานท้องถิ่นสูญเสียโอกาส
อย่างไรก็ตาม มี ส.ส. ของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก็คือพรรคดีพีพี ได้แก่นางเฉินเจ๋หรู ออกมาคัดค้านว่า การขยายเวลาทำงานของผู้อนุบาลต่างชาติออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเมื่อครบ 12 ปีแล้วยังต้องเผชิญปัญหาเดียวกันนี้อีก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานท้องถิ่นแล้ว ยังจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุระยะยาวได้ เพราะเป็นการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไป สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ เร่งพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกัน ส.ส.หญิงสังกัดพรรคดีพีพีผู้นี้ยังกล่าวว่า ลูกชายของตนก็ทุพพลภาพทางสมองและร่างการ ต้องให้คนดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน แต่ตนไม่เคยว่าจ้างแรงงานต่างชาติมาช่วยดูแล
นอกจากนั้น องค์กรด้านแรงงานก็กล่าวคัดค้านว่า การขยายเวลาทำงานออกไปเป็น 12 ปี จะทำให้แรงงานต่างชาติไม่สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้เป็นเวลานาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง และรัฐบาลต้องทบทวนนโยบายแรงงานต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันมีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติเกินความจำเป็นและพร่ำเพรื่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยและและผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้มีเพียง 150,000 คน แต่กลับมีการว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติกว่า 180,000 คน
ด้านคณะกรรมการการแรงงานหรือ CLA และกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมาย อนุญาตให้แรงงานต่างชาติขยายเวลาทำงานออกไปเป็น 12 ปี โดยกล่าวว่า จากการประเมินการขยายเวลาทำงานออกไปเป็น 12 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานท้องถิ่น และตัวเลขแรงงานต่างชาติในไต้หวันจะไม่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังจะไม่มีปัญหาเรื่องการย้ายถิ่น เพราะได้แก้กฎหมายป้องกันการย้ายถิ่นของแรงงานต่างชาติไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับจะช่วยให้สถิติการหลบหนีนายจ้างของแรงงานต่างชาติลดลง และช่วยให้ต้นทุนการฝึกแรงงานต่างชาติคนใหม่ลดลงด้วย ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า หากกฎหมายผ่านสภา จะครอบคลุมแรงงานต่างชาติทั้งหมด จะไม่มีการแยกผู้อนุบาลและแรงงานในภาคการผลิตออกเป็น 2 ส่วน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเสียงคัดค้าน ทำให้ที่ประชุมแก้ไขกฎหมายการจ้างงานมาตรา 52 ขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติออกไปจาก 9 ปีเป็น 12 ปี ของคณะกรรมาธิการกิจการภายใน สภานิติบัญญัติ ไม่สามารถผ่านสภาในวาระแรกได้ และการประชุมของสภานิติบัญญัติในสมัยประชุมนี้กำลังสิ้นสุดลง จะต้องรอลุ้นไปอภิปรายกันต่อในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มหลังเทศกาลตรุษจีน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น