วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

แรงงานต่างชาติในไต้หวันทำลายสถิติ ตัวเลขพุ่งทะลุ 380,000 คน คนงานอินโดครองสัดส่วนมากสุดถึง 40%

สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงมากขึ้น ประกอบกับจำนวนประชากรสูงวัยและผู้ป่วยที่ต้องการผู้อนุบาลมาดูแลเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในไต้หวัน ณ สิ้นเดือนม.ค. 2554 สูงเป็นประวัติการณ์ มาอยู่ที่ 383,164 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอินโดนีเซียสูงถึง 159,367 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด ส่งผลให้คณะกรรมการการแรงงานหรือ CLA ของไต้หวันกังวลว่า หากแรงงานต่างชาติกระจุกตัวอยู่ที่ชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติได้ ดังนั้น ขณะนี้ CLA จึงพยายามหาทางโน้มน้าวให้นายจ้างกระจายการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

ไต้หวันเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติตั้งแต่ปี 2532 เพียง 10 ปีแรกของการเปิดให้นำเข้า จำนวนแรงงานต่างชาติได้พุ่งทะลุหลัก 300,000 คน โดยภาคการผลิตซึ่งเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติเป็นลำดับแรก เนื่องจากประสบภาวะขาดแคลนแรง
งานอย่างหนัก ทำให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติสูงถึง 190,000 คน แม้ต่อมาจะประสบวิกฤตการเงินโลก เศรษฐกิจซบเซา โรงงานหลายแห่งล้มละลาย ประกอบกับมีการจำกัดคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่มีสิทธินำเข้าแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวด ส่งผลให้จำนวนแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตลดลงกว่า 20,000 คน แต่เริ่มจากปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 190,000 คนอีกครั้ง

ในส่วนของภาคสวัสดิการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไต้หวันนำเข้าผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านต่างชาติในจำนวนที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแรงงานอินโดนีเซียมีจำนวนมากที่สุด ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 73ของผู้อนุบาลทั้งหมด และหากเทียบกับจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมด แรงงานจากอินโดนีเซียมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41 เลยทีเดียว

ต่อสภาพการณ์เช่นนี้ นางหวางหรูเสวียน ประธาน CLA กล่าวว่า หากมองในแง่ความมั่นคงของประเทศแล้ว การนำเข้าแรงงานต่างชาติจากชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป จัดเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ ดังนั้น ขณะนี้ CLA กำลังพยายามกระจายการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากชาติอื่นมากขึ้น นอกจากนี้ ประธาน CLA ยังกล่าวว่า สาเหตุที่ผู้อนุบาลเพิ่มมากขึ้น พอๆ กับความต้องการแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในภาคการผลิต มาจากยังไม่สามารถจัดตั้งระบบดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุระยะยาว หากระบบนี้ จัดตั้งเสร็จ และแรงงานไต้หวันเข้าระบบนี้มากขึ้น ก็จะลดการนำเข้าแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านต่างชาติน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ระบบดูแลผู้สูงวัยระยะยาว ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไต้หวันผลักดันมานาน แม้ระยะนี้จะได้รับความสำคัญและมีแนวโน้มว่า จะสามารถจัดตั้งแล้วเสร็จในไม่ช้านี้ แต่กว่าจะเข้ารูปเข้ารอย และสามารถฝึกอบรมแรงงานท้องถิ่นเข้าทำหน้าที่เป็นผู้อนุบาลได้มากขึ้น คงต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้น การจะลดจำนวนผู้อนุบาลต่างชาติให้น้อยลง คงยังไม่ง่ายและไม่รวดเร็วอย่างที่ทางการคาดหวัง

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2554 เวลา 08:11

    หางานในเกาสงค่ะ9โมงถึง15.00ค่ะดิฉันแต่งงานมาค่ะถ้ามีงานตามเวลานี้ติดต่อให้ด้วยน่ะค่ะ0958881684เมลaoqsvxmz@hotmail.comขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 สิงหาคม 2554 เวลา 23:11

    เมื่อหลายปีก่อนดิฉันไปทำงานไต้หวัน ไม่มีหักเลย เสียแต่ค่าหัวไป แสนกว่าบาททำโรงงานอิเล็กทอนิกยังเหลือกลับบ้านบ้างแต่ตอนนี้ เอเย่นรวยแทน

    ตอบลบ